26 พฤศจิกายน วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง


26 พฤศจิกายน วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

 

มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 บนบริเวณที่ดินประมาณ 300 ไร่เศษ บนถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

เดิมมหาวิทยาลัยในประเทศไทยช่วงก่อน พ.ศ. 2490 เป็นมหาวิทยาลัยในรูปแบบปิด ต้องสอบคัดเลือก มีเพียงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่เป็นมหาวิทยาลัยในรูปแบบตลาดวิชา ไม่มีการสอบคัดเลือกและเปิดรับทุกคนที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และภายหลังจึงถูกแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยปิด เมื่อ พ.ศ. 2495 ทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยทั้งหมดต้องสอบคัดเลือก และเกิดการตกค้างของผู้ที่ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาแต่ไม่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก จนเกิดการขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา แม้จะมีการเปิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษาได้ ภายหลังจึงมีผู้เสนอให้มีการนำรูปแบบของอดีตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กลับมาเปิดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ และเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา[4] กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือกนับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ทั้งนี้เพื่อแก้ไขการขาดแคลนสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้น ต่อมาได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ขึ้นใช้บังคับแทนกฎหมายฉบับเดิม

การตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 คือ ประมวล กุลมาตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชุมพร สังกัดพรรคสหประชาไทย โดยในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชื่อมหาวิทยาลัย และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยตั้งคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมี พลเอก ประภาส จารุเสถียร เป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยละเอียด คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยในร่างพระราชบัญญัตินั้นว่า "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ..." โดย แคล้ว นรปติ ส.ส. จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้เสนอให้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514

ระยะแรก คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ ที่ ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เป็นที่ตั้งชั่วคราว จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 จึงได้อนุญาตให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งถาวร และได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นแรก ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้วันที่ 26 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล จึงจัดให้มีการบรรยายในชั้นเรียน สำหรับผู้ที่จะเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน และจัดให้มีสื่อการสอนทางไกลเพื่อการศึกษาด้วยตนเอง เช่น ตำราเรียน การบรรยายผ่านวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักศึกษาที่มีภาระการงาน หรืออยู่ในท้องถิ่นห่างไกลไม่สามารถเดินทางมาเรียนอย่างสม่ำเสมอได้ อย่างไรก็ตาม ในบางสาขาวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติหรือจำเป็นต้องศึกษาจากผู้สอนอย่างใกล้ชิด มหาวิทยาลัยหรือภาควิชาอาจกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าชั้นเรียน โดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะอื่น ๆ ในบางรายวิชา